ภาษาไทย

วรรณคดี และ วรรณกรรม

ความหมายของวรรณคดี

               เนื่องจากมีการเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า วรรณคดี กับวรรณกรรม อยู่เสมอ เนื่องจากทั้งสองคำ มาจากภาษาอังกฤษว่า Literature เช่นเดียวกัน สำหรับในภาษาไทยนั้นมีการใช้คำว่า "วรรณคดี" ก่อนภายหลังจึงได้เกิดมีคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้น และจริง ๆ แล้ว ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2457 ไทยเรายังไม่มีคำว่า "วรรณคดี" ใช้ เราเรียกหนังสือวรรณคดีว่า "หนังสือ" (เช่นเรียกเรื่องท้าวบาเจืองหรือท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ทางเวียงจันทร์ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า "หนังสือเจียง" หรือเรียกเรื่องมหาภารตะว่า "หนังสือมหาภารตะ" เป็นต้น)  หรือเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อลักษณะคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา (เช่น นิราศนรินทร์คำโคลงหรือนิราศพระยาตรัง เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์หรือโอกาสที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ ขึ้น (เช่น เพลงยางหรือกลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง หรือโคลงนิราศเวียงจันทร์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร เป็นต้น) (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2541 : 15) และคำว่า "วรรณคดี" นี้รู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงตั้ง "โบราณคดีสโมสร" ขึ้น วัตถุประสงค์ของสโมสรนี้ก็เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวรรณคดีคือ การพิมพ์เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่แต่งดี เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว หนังสือใดที่โบราณคดีสโมสรนี้ประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็น "วรรณคดี" ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็น "หนังสือดี"

              ต่อมาใน พ.ศ. 2457 คำว่า "วรรณคดี" จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ เช่นเดียวกับกิจการของโบราณคดีสโมสร และงานที่สำคัญของวรรณคดีสโมสรนี้ก็คือการพิจารณายกย่องหนังสือสำคัญของชาติว่าเรื่องใดเป็นยอดทางไหน (สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 1-3)สำหรับคำว่า "วรรณคดี" ได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลายดังนี้ คือ
คำว่า "วรรณคดี" ตามตัวอักษร หมายความว่า "แนวทางแห่งหนังสือ" คำว่าวรรณคดี เป็นคำสมาส ประกอบด้วยคำ "วรรณ" จากรากศัพท์สันสกฤต วรณ แปลว่า หนังสือ กับคำว่า "คดี" จากรากศัพท์บาลี คติ แปลว่า การดำเนิน การไป ความเป็นไป แบบกว้าง ทาง ลักษณะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) ได้ให้ความหมายว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี

 ๑. ความหมายของ “วรรณคดี”
            วรรณคดี หมายถึง หนังสือที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและศิลปะการแต่งและได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งสามารถบ่งบอกลักษณะได้ดังนี้

           ๑.๑ มีเนื้อหาดี มีประโยชน์และเป็นสุภาษิต

           ๑.๒ มีศิลปะการแต่งที่ยอดเยี่ยมทั้งด้านศิลปะการใช้คำ ศิลปะการใช้โวหารและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

           ๑.๓ เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและสืบทอดกันมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี

วรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กำหนดประเภทของวรรณคดีไว้ ๕ ประเภทดังนี้
           ๑.) กวีนิพนธ์ ได้แก่ หนังสือที่แต่งด้วยร้อยกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต กลบท (กลอนกลบท ,โครงกลบท ,ร่ายกลบท))

           ๒.) ละครไทย ได้แก่ หนังสือที่แต่งขึ้นด้วยกลอนบทละคร เช่น บทละครใน บทละครนอก

           ๓.) นิทาน ได้แก่ หนังสือเล่าเรื่องอย่างร้อยแก้วเป็นบันเทิงคดี เช่น สามก๊ก

           ๔.) ละครพูด ได้แ่ก่ หนังสือที่แต่งเป็นบทละครพูด เช่น หัวใจนักรบ ,เห็นแก่ลูก

           ๕.) อธิบาย ได้แก่ หนังสือที่แต่งเป็นความเรียง มีเนื้อหาเป็นสารคดี

ความหมายของวรรณกรรม

       คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้

        " วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำและการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งการแสดงนั้นได้กำหนดไว้เป็นหนังสือ หรืออย่างอื่น ๆ …"
       คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6


ประเภทของวรรณกรรม

          เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.) แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี 2 ประเภท คือ
         

1. วรรณกรรมร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความ เรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น
           1.1 บันเทิงคดี (Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2518 : 9) กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น บันเทิงคดีสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้

                  1.1.1 นวนิยาย (Novel) คือ การเขียนผูกเรื่องราวของชีวิตอันมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะจำลองสภาพชีวิตของสังคมส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมีความมุ่งหมายให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน คือให้ผู้อ่านเกิดสะเทือนอารมณ์ไปกับเนื้อเรื่องอย่างมีศิลปะ
                  1.1.2 เรื่องสั้น (Short Story) คือ การเขียนเรื่องจำลองสภาพชีวิตในช่วงสั้น คือมุมหนึ่งของชีวิต หรือเหตุการณ์หนึ่ง หรือช่วงระยะหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่าน หรือ นิยามอีกอย่างหนึ่ง ว่า เรื่องสั้น คือ วิกฤตการณ์ชุดหนึ่ง มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน และนำไปสู่จุดยอดหนึ่ง (Climax) ( ธวัช บุณโณทก 2537 : 12)
                  1.1.3 บทละคร (Drama) คือการเขียนที่ใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิง เช่น บทละครวิทยุ บทละครพูด และบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น


            1.2 สารคดี (Non-Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน ซึ่ง ธวัช ปุณโณทก ( 2527 : 11 ) ได้แบ่งย่อยดังนี้
                 

                 1.2.1 ความเรียง (Essay) คือ การถ่ายทอดความรู้ อาจจะได้มาจากการประสบ หรือตำราวิชาการ มาเป็นถ้อยความตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามความรู้ ความคิดที่ผู้เขียนเสนอมา บางครั้งมีผู้เรียกว่า "สารคดีวิชาการ"
                 1.2.2 บทความ ( Article) คือความคิดเห็นของผู้เขียนต่อเรื่องราวที่ประสบมาหรือต่อข้อเขียนของผู้อื่น หรือต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ในการเขียนบทความผู้เขียนมุ่งที่จะบอกถึงความเห็น ความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะถ่ายถอดความรู้เหมือนความเรียง
                 12.3. สารคดีท่องเที่ยว ( Travelogue) คือ การบันทึกการท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นขณะที่ท่องเที่ยวไป โดยมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านและให้ความเพลิดเพลินด้วย
                1.2.4. สารคดีชีวประวัติ (Biography) คือ การบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลิกภาพหนึ่งมุ่งที่จะให้เห็นสภาพชีวิตประสบการณ์ของบุคลิกภาพนั้นทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ และนิยาย
                1.2.5. อนุทิน (Diary) คือการบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของตนเองในประจำวัน หรืออาจจะบันทึกประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนความจำ
                1.2.6. จดหมายเหตุ ( Archive) คือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของทางราชการ หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของสถาบัน หน่วยงานหรือตระกูล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเชิงประวัติเหตุการณ์ของชาติ หรือของสถาบัน หรือหน่วยงานราชการ หรือของตระกูล

2. วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมร้อยกรองยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้

               2.1. วรรณกรรมประเภทบรรยาย (Narrative) คือ วรรณกรรมร้อยกรองที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น
               2.2. วรรณกรรมประเภทพรรณา หรือ รำพึงรำพัน ( Descriptive or Lyrical) มักเป็นบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงอารมณ์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีโครงเรื่อง เช่น นิราศ และเพลงยาว เป็นต้น (ประทีป เหมือนนิล . 2519 : 22-23.)
               2.3. วรรณกรรมประเภทบทละคร (Dramatic) เป็นบทร้อยกรองสำหรับการอ่านและใช้เป็นบทสำหรับการแสดงด้วย เช่น บทพากย์โขน บทละครร้อง บทละครรำ เป็นต้น


2) แบ่งตาม ลักษณะเนื้อเรื่อง มี 2 ประเภท คือ

               1. วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ
              2. วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย (สมพร มันตะสูตร 2526 : 6)
 3) แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี 2 ประเภท คือ

                1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ
วรรณกรรมมุขปาฐะมีปรากฏมานาน จึงมีอยู่ทุกภูมิภาคของโลก การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาษาของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีภาษาพูดก็ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดจิตนาการและอารมณ์ได้มากขึ้น ประกอบกับภาษาพูดสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่าภาษาเขียน ดังนั้นวรรณกรรมมุขปาฐะจึงมีมาก และมีมานานกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น
                2. วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา
วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่พัฒนาสืบต่อมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ กล่าวคือ เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษร เพื่อบันทึกความในใจ ความรู้สึก และความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอกให้ผู้อื่นรับรู้นั่นเอง และเนื่องจากตัวอักษรเป็นเครื่องมือบันทึกที่สื่อสารกันได้กว้างไกลและยั่งยืน มนุษย์จึงสร้างวรรณกรรมประเภทนี้กันอย่างกว้างขว้างในทุกภูมิภาคของโลกขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคนิคและรูปแบบการสร้างวรรณกรรมให้เจริญมาเป็นลำดับ วรรณกรรมลายลักษณ์จึงกลายเป็นมรดกที่มนุษยชาติไม่อาจปฏิเสธได้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2525 : 25)


4) แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา (ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่) มี 7 ประเภท คือ

               1. วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น
               2. วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
               3. วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
               4. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ
               5. วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น
               6. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น
               7. วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอ และที่เขียนเป็นกลอน เช่น พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น

 5) แบ่งตามบ่งเกิดหรือที่มาของวรรณกรรม มี 6 ประเภท คือ

                1. วรรณกรรมอันเกิดจากการบอกเล่า หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกหรือถ่ายทอดจากผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือนักปราชญ์แต่ละสาขาของความรู้ วรรณกรรมจากบุคคลเหล่านี้จึงเป็นวรรณกรรมที่เรียกกันว่า "ตำรา" วรรณกรรมประเภทนี้อาจจะสมบูรณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือและการพิสูจน์ โดยกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปก็มักเชื่อโดยอนุโลมว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้
               2. วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจาการหยั่งรู้โดยญาณ ซึ่งหมายถึง ปัญญา การหยั่งรู้ อาจจะเกิดจากการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เพื่อหาคำตอบ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้พ้นสงสัย แล้วจู่ ๆ ก็เกิดความรู้ในเรื่องนั้นผุดขึ้นในความคิดและได้คำตอบโดยไม่คาดฝัน จากคำตอบนั้นจึงได้นำมาบันทึกเป็นวรรณกรรม เราเรียกวรรณกรรมนี้ว่า วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์
ในบางกรณีเมื่อมีแรงดลใจหรือจินตนาการบางอย่าง ก็อาจเกิดการหยั่งรู้ขึ้น ความรู้ที่เกิดจากญาณทัศน์นี้ นับเป็นจุดกำเนิดจองความรู้เชิงปรัชญา และพัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์บ้าง และศิลปกรรมบ้าง จนในที่สุดที่กลายเป็นวรรณกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไป เช่น วรรณกรรมวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมสังคมศาสตร์ เป็นต้น
                3. วรรณกรรมอันเกิดจากเหตุผล หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากการให้หลักของเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีการทางตรรกวิทยา วรรณกรรมประเภทนี้เป็นบันทึกความรู้ที่เกิดจากการอ้างอิงความเป็นจริง หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ วรรณกรรมทางคณิตศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้โดยแท้จริง
               4. วรรณกรรมอันเกิดจากคัมภีร์ หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากความเชื่อหรือวรรณกรรมที่บันทึกความเชื่อของมนุษย์ วรรณกรรมดังกล่าวนี้มีมูลฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นควาามรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ศาสดา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ คัมภีร์อุปนิษัท และภควัทคีตาของศาสนาฮินดู คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกรุอานของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก มักจะมีคัมภีร์เป็นแหล่งประมวลคำสอนของศาสนา โดยถือว่าเป็นพระวัจนะของศาสดา วรรณกรรมประเภทนี้จึงได้รับการยอมรับจากศาสนิกชน หรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ว่าเป็นวรรณกรรมอันเป็นสัจธรรม หรือความจริงอันแท้
               5. วรรณกรรมอันเกิดจากการประจักษ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกความรู้มาจากวิธีวิทยาศาสตร์ การสังเกต การทดลอง การพิสูจน์ความจริง โดยการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล
วรรณกรรมประเภทนี้นับเป็นรากฐานของวิชาการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวงการศึกษา และอาชีพทั้งหลาย ต่างนำเอาวิธีการวิจัยเข้าไปใช้ในการพัฒนางานของตนอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดในปัจจุบัน
              6. วรรณกรรมอันเกิดจากวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจากศิลปะการประพันธ์ โดยมีสุนทรียภาพ จินตนาการ และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิต
สิ่งเร้าที่สะท้อนเข้าสู่จิตนั้นมีหลายอย่างสุดแท้แต่ว่าบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมใดสิ่งเร้าที่นับว่ามีอิทธิพล และเป็นปัจจัยในการสร้างวรรณกรรมมาก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ 2525 : 25-27)

 6) แบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน มี 3 ประเภท คือ

              1. วรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิด เช่น สารคดี รายงาน ตำรา พระราชพิธีพงศาวดาร
              2. วรรณกรรมมุ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น บทละคร นิทาน นิยาย เรื่องสั้น
              3. วรรณกรรมที่มุ่งผสมผสานความรู้ ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน ผลงานนี้อาจอยู่ในวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ได้ (วิภา กงกะนันทน์ 2523 : 32-34) สำหรับ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ (2525 : 28) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ


                           1. วรรณกรรมเชิงวิชาการ หมายถึงวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์หรือมีพันธกิจหลัก คือการให้ความรู้ความคิด อันได้จากการบอกเล่า จากญาณทัศน์ จากเหตุผล จากคัมภีร์ และจากการประจักษ์ วรรณกรรมประเภทนี้มุ่งเสนอเนื้อหาแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญและไม่สู้จะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบเทคนิค และกลวิธีการประพันธ์มากนัก กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง
                           2. วรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยเน้นรูปแบบ เทคนิค และกลวิธีการประพันธ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อเรื่อง แต่การเสนอความรู้ความคิดนั้น ไม่เน้นในเรื่องข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเท่ากับความบันเทิง และสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความบันเทิงและสุนทรียภาพนั่นเอง


7) แบ่งตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอของวรรณกรรม มี 2 ประเภท คือ               1. วรรณกรรมในรูปของวัสดุสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดงานเขียนที่เป็นตัวอักษรและใช้กระดาษเป็นหลัก แบ่งย่อยออกเป็น
                  1.1 หนังสือ แบ่งออกเป็น
                          1.1.1 หนังสือสารคดี (Nonfiction Book) ซึ่งครอบคลุมถึง
                                   
                          1.1.2 หนังสือบันเทิงคดี (Fiction Book) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ มุ่งให้ความบันเทิงเป็นสำคัญ แบ่งย่อยได้ดังนี้
                                
                  1.2 สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องกันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เมื่อก่อนภาษาอังกฤษใช้คำเรียกคลุมกว้าง ๆ ว่า periodicals แต่ปัจจุบันใช้คำว่า serials ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้
                           1.2.1 หนังสือพิมพ์รายวัน สิ่งพิมพ์ที่ออกประจำวัน แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ใน
ท้องถิ่นอาจจะเป็นราย 7 วัน หรือราย 10 วัน ราย 15 วัน ตามความเหมาะสม หนังสือพิมพ์จะเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือเหตุการณ์ที่สังคมสนใจ นอกจากนี้ยังเสนอบทความ ความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เสนอเรื่องทางวิชาการ ตลอดจนนวนิยาย สารคดีที่น่าสนใจต่าง ๆ หนังสือพิมพ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
                           1.2.2 วารสาร (Periodicals) เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกแน่นอน และมีกำหนดเวลาออกไว้แน่นอน เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 2 เดือน เป็นต้น ตีพิมพ์ บทความและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้ในเล่มเดียวกันเขียนโดยผู้เขียนหลายคน เนื้อหาสาระภายในจะเป็นเรื่องในแนววิชาเดียวกัน หรือเป็นเรื่องหลายเรื่องหลายแบบรวม ๆ กันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดทำวารสารนั้น ๆ เนื้อเรื่องจะจบในฉบับหรือต่อเนื่องกันไปหลายฉบับก็ได้ รูปเล่มของวารสารชื่อหนึ่ง ๆ มักจะเป็นแบบเดียวกันและจะให้หมายเลขของปีที่ (Volume) ฉบับที่ (Number) หรือวันเดือนปี (Date) ประจำฉบับไว้ด้วยโดยเลขที่ดังกล่าวจะต่อเนื่องกับฉบับก่อน ๆ ที่ตีพิมพ์มาแล้ว
                  1.3 จุลสาร (Pamphlet) เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวสั้น ๆ มีความหนาไม่มาก โดยประมาณก็คือ 60 หน้า หรืออาจจะหนากว่านี้เพียงเล็กน้อย

               2. วรรณกรรมในรูปของวัสดุไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials) หมายถึงวรรณกรรมที่
ถ่ายทอดงานลงในวัสดุไม่ตีพิมพ์ หรือโสตทัศนวัสดุ ซึ่งวรรณกรรมประเภทนี้บางครั้งได้ถ่ายทอดมาจากวรรณกรรม ภาพยนต์ที่นำเรื่องจากวรรณกรรมมาถ่ายทอดทำ หรืออาจจัดทำขึ้นโดยเฉพาะก็ได้ บทเพลงที่บันทึกลงในแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง หรือ แผ่นดิสก์ เป็นต้น        

                       
8) แบ่งตามต้นกำเนิดของวรรณกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ


                 1. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากความคิด ความริเริ่ม การค้นพบ และ ประสบการณ์ของผู้ผลิตเองสำหรับนำไปใช้งานหรือเผยแพร่แก่สาธารณชน เช่น เอกสารจดหมายเหตุ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย และเอกสารส่วนบุคคล เป็นต้น
                 2. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากการรวบรวม วิเคราะห์เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลมาจากวรรณกรรมปฐมภูมิ เช่น หนังสือตำราต่าง ๆ หนังสือพจนานุกรม และหนังสือสารานุกรม เป็นต้น
                 3. วรรณกรรมตติยภูมิ (Tertiary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจาก การรวบรวม วิเคราะห์ เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลจากวรรณกรรมทุติยภูมิเป็นหลัก เช่น เอกสารคำสอน รายงานของนักศึกษา และคู่มือศึกษากระบวนวิชาต่าง ๆ เป็นต้น
จากทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้จำแนกประเภท ของวรรณกรรมนั้นจะทำให้ผู้ที่ศึกษาวรรณกรรม สามารถที่จะเข้าใจถึงรูปแบบต่าง ๆ ของวรรณกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน และตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอวรรณกรรม จะช่วยให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมสามารถศึกษารูปแบบวรรณกรรมในศาสตร์ต่าง ๆ เชิงวิจารณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น